มหาวิทยาลัยนานาชาติเอเชีย-แปซิฟิกจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งที่ 9

มหาวิทยาลัยนานาชาติเอเชีย-แปซิฟิกจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งที่ 9

โดย จอย คุตตะพันธ์ มหาวิทยาลัยนานาชาติเอเชียแปซิฟิก

 

มหาวิทยาลัยนานาชาติเอเชีย-แปซิฟิก (AIU) เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งที่ 9 (9ISC) ขึ้น ระหว่างวันที่ 25-26 ตุลาคม 2565 ณ วิทยาเขตมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ภายใต้หัวข้อ “งานวิจัยคุณภาพ: การวิจัยขั้นสูงเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม” โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 200 คน ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในหลากหลายสาขาวิชา

การประชุมวิชาการระดับนานาชาติ (ISC) เป็นงานประชุมวิชาการประจำปีที่จัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลงานการวิจัย ร่วมกันจัดโดย 4 สถาบันอุดมศึกษาแอ๊ดเวนตีสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ มหาวิทยาลัยนานาชาติเอเชีย-แปซิฟิก ประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้ มหาวิทยาลัย Adventist University of the Philippines (AUP) ประเทศฟิลิปปินส์ มหาวิทยาลัย Universitas Klabat (UKLAB) ประเทศอินโดนีเซีย และ มหาวิทยาลัย Universitas Advent Indonesia (UNAI) ประเทศอินโดนีเซีย

ผศ. ดร. ดำรง สัตยวากย์สกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยนานาชาติเอเชีย-แปซิฟิก และ ผศ. ดร. กมลนันท์ ทวียรรยงกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมงานตามธรรมเนียมรูปแบบดั้งเดิมของไทย จากนั้น นายสมชาย ชื่นจิตร ประธานสำนักงานสหมิชชั่นแห่งภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEUM) เป็นผู้ตีฆ้องเปิดงานอย่างเป็นทางการ พร้อมกับการอธิฐานเปิด

ในงานมีวิทยากร 4 คน ให้เกียรติเป็นผู้บรรยายหลัก  นางโดโรธี อี. ฟอร์ด รองศาสตราจารย์และหัวหน้าสาขาวิชาการพยาบาล มหาวิทยาลัยโอ๊ควูด นำเสนอผลงานค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมใหม่ในหัวข้อ “การลดลงของภาวะเครียดออกซิเดชั่นในลูกจิงโจ้แรกเกิดที่ได้รับการดูแลจากแม่จิงโจ้” โดยบทความดังกล่าวเน้นความสำคัญของการไม่แยกทารกออกจากมารดาหลังการคลอดและการนำทั้งสองมาสานสัมพันธ์กันด้วยการสัมผัสทางผิวหนังเพื่อลดภาวะเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันของทารกแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนด

จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร. ศิโรจน์ โสรัจจกุล จากมหาวิทยาลัยโลมาลินดา (LLU) ประเทศสหรัฐอเมริกา นำเสนอเกี่ยวกับวาทกรรมวิเคราะห์ว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงมุมมองแนวคิดทางสังคมได้อย่างไร โดยท่านกล่าวไว้ว่า “ผู้ที่สามารถควบคุมการผลิตอาหารได้ จะเป็นผู้ที่มีอิสระ” ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิชาการที่เข้าร่วมงานทุกคนควรพิจารณา

ในงานวันที่สอง นางซูซาน ชานด์ จากมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคริเบียน (USC) นำเสนอบทความเรื่อง “ผลกระทบของชุมชนผ่านงานวิจัยของชนเผ่า” และรองศาสตราจารย์ ไรอัน จี  ซินแคลร์ จากมหาวิทยาลัยโลมาลินดา ประเทศสหรัฐอเมริกานำเสนอบทความเรื่อง “การใช้กรอบวิทยาศาสตร์ชุมชนเพื่อจัดการกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: กรณีศึกษาในทะเล Salton เขต Eastern Coachella Valley รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา”

นอกจากการบรรยายของวิทยากรที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีผู้ที่ให้ขึ้นกล่าวให้ข้อคิดเพื่อเสริมกำลังใจแก่ผู้เข้าร่วมงานคือ นาง Arceli Rosario อธิการบดีมหาวิทยาลัย  Adventist University of the Philippines (AUP) และ นาย Danny Rantung อธิการบดีมหาวิทยาลัย Universitas Klabat (UKLAB)

ในช่วงท้ายของการนำเสนอผลงานวิจัยในห้องบรรยายต่างๆ ตลอดระยะเวลา 2 วันของการจัดงาน ได้จัดให้มีการอภิปรายเป็นคณะนำโดย ดร. อแมนดา ไซมอน รองผู้อำนวยการสำนักวิจัยมหาวิทยาลัยนานาชาติเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับนักวิชาการทุกคนในการโต้ตอบและรวบรวมระดับความหลากหลายของความคิดและแนวคิดที่นำเสนอผ่านบทความที่แตกต่างกันให้เป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อสร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

จากข้อมูลของ รศ. ดร. วัลลี พุทโสม ผู้อำนวยการสำนักวิจัยมหาวิทยาลัยนานาชาติเอเชีย-แปซิฟิก และ นายบายู กาอูมพูงาน เจ้าหน้าที่สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยนานาชาติเอเชีย-แปซิฟิก มีการนำเสนอผลงานวิจัย 128 เรื่อง จากสาขาวิชาสุขภาพ บริหารธุรกิจ การศึกษา วิทยาศาสตร์ สังคม วัฒนธรรมและศิลปะ เทคโนโลยี และศาสนศาสตร์ “แม้การประชุมวิชาการในครั้งนี้จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่เราทุกคนได้รับความกระจ่างและแรงบันดาลใจจากการนำเสนอผลงานที่เราได้เห็นและได้ยิน หวังว่าเราทุกคนจะกลับไปยังสถาบันของตนด้วยความมุ่งมั่นครั้งใหม่ในการสร้างผลงานวิจัยที่สามารถเอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้” รศ. ดร. วัลลี กล่าว

 

Miss Thitaree Sirikulpat – ผู้แปล

 

มหาวิทยาลัยนานาชาติเอเชียแปซิฟิก, คุณจอย คุตตะพันธ์ – รายงาน, November 2, 2022

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *